เพิ่มเพื่อน

Tires (อุตสาหกรรมยางรถยนต์)

อุตสาหกรรมยางรถยนต์ เป็นอุตสาหกรรมหนึ่งที่มีบทบาทต่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศไทย โดยเฉพาะด้านการลงทุนและการจ้างงาน นอกจากนี้ยังเป็นอุตสาหกรรมต่อเนื่อง จากอุตสาหกรรมรถยนต์
ฉะนั้นการศึกษาใดๆเกี่ยวกับลักษณะทั่วไปทางด้านการผลิตและการตลาด ของอุตสาหกรรมยางรถยนต์จึงเป็นสิ่งจำเป็นที่ต้องศึกษา เพื่อเป็นกรอบแนวคิดเบื้องต้นในการกำหนดปัจจัยทางด้านอุปสงค์และปัจจัยทางด้านอุปทาน
อันเป็นสาเหตุทำให้ราคาของยางรถยนต์เปลี่ยนแปลง

  1. หน้ายาง (Tread)
  2. ไหล่ยาง (Shoulder)
  3. แก้มยาง (Sidewall)
  4. โครงยาง (Carcass)
  5. ผ้าใบเสริมหน้ายางหรือเข็มขัดรัดหน้ายาง (Breaker or Belt)
  6. ขอบยาง (Bead)

หน้ายาง (Tread) คือส่วนประกอบที่อยู่นอกสุดของยาง และเป็นส่วนเดียวที่สัมผัสผิวถนน ทำหน้าที่ป้องกันของมีคม ที่จะทำอันตราย ต่อโครงยาง ที่หน้ายางจะประกอบไปด้วยดอกยางและร่องยาง
เพื่อทำหน้าที่ในการยึดเกาะถนน มีแรงกรุยเวลาวิ่ง เบรคหยุดได้มั่นใจ ในปัจจุบัน ดอกยางมีอยู่หลายชนิด ซึ่งแต่ละชนิดจะมีประสิทธิภาพที่แตกต่างกันออกไปดังนั้น ผู้ใช้จึงควรเลือกชนิดของดอกยาง
ให้เหมาะสมกับสภาพการใช้งาน

ไหล่ยาง (Shoulder) เป็นส่วนที่เชื่อมต่อระหว่างหน้ายางกับแก้มยาง มีความหนาพอๆ กับหน้ายาง ปกติไหล่ยาง จะถูกออกแบบเป็นร่องให้เหมาะสม เพื่อช่วยระบายความร้อนภายในยางให้ออกมาได้ง่าย

แก้มยาง (Sidewall) เป็นส่วนด้านข้างสุดของยาง ที่ไม่ได้สัมผัสพื้นผิวถนนขณะที่รถวิ่งอยู่และเป็นส่วนที่ยืดหยุ่นมากที่สุดของยางในขณะใช้งาน

โครงยาง (Carcass) เป็นส่วนประกอบหลักของยาง ซึ่งมีบทบาทสำคัญ ที่คงรูปร่าง และจะรักษาความดันลมภายในยาง เพื่อให้ยางสามารถรับน้ำหนักบรรทุกได้ รวมทั้งต้องทนทานต่อแรงกระแทก
หรือสั่นสะเทือนจากถนนที่มีต่อยางได้ดี

ผ้าใบเสริมหน้ายาง หรือเข็มขัดรัดหน้ายาง (Breaker or Belt) เป็นชั้นที่อยู่ระหว่างหน้ายาง (Tread) กับโครงยาง (Carcass) ในกรณียางธรรมดา (Bias Tire) เราเรียกว่า “ผ้าใบเสริมหน้ายาง
(Breaker)”และในกรณียางเรเดียล (RadialTire) จะเรียกว่า “เข็มขัดรัดหน้ายาง (Belt)” ซึ่งทำหน้าที่เพิ่มความแข็งแรง ให้กับหน้ายาง ให้ยางสามารถรับแรงกระแทกได้ดี และป้องกันไม่ให้โครงยาง
ชำรุดเสียหายจากสิ่งอันตรายต่างๆ จากพื้นถนน

ขอบยาง (Bead) ประกอบด้วยกลุ่มของเส้นลวดเหล็กกล้า (High Carbon Steel) ที่ช่วยยึดส่วนปลายทั้ง 2 ข้างของโครงยางเอาไว้ เพื่อให้บริเวณขอบยาง (Bead) มีความแข็งแรง สามารถยึดแน่นสนิท
กับกระทะล้อได้ดีเมื่อนำไปใช้งานสำหรับยางรถยนต์ที่ไม่ใช้ยางใน (Tubeless Tire) ขอบยางเป็นส่วนที่สำคัญอย่างยิ่ง ที่จะต้องทำหน้าที่ป้องกันไม่ให้ลมยางรั่วซึมออกมา
นอกจากนี้ ยังมียางรถยนต์ยังมีส่วนประกอบย่อยอื่นๆ เช่น ผ้าใบหุ้มขดลวดและยางแข็งๆ ที่มีลักษณะคล้ายสามเหลี่ยม (Bead Filer) ทำหน้าที่เชื่อมต่อ ระหว่างส่วนที่แข็ง คือบริเวณขอบยาง ไปสู่ส่วนที่อ่อน
และยืดหยุ่น คือบริเวณแก้มยาง และยังมีผ้าใบหุ้มขอบลวดที่อยู่ด้านนอกสุดของขอบยาง เพื่อป้องกันการเกิดอันตรายกับโครงยาง จากการถอดประกอบเข้ากับกระทะล้อในแต่ละครั้ง